วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เผยภัยพิบัติภาคใต้หนักถี่ขึ้น แนะอพยพคนพื้นที่เสี่ยง

วันที่ 31 พฤษภาคม 2554 23:00

เผยภัยพิบัติภาคใต้หนักถี่ขึ้น แนะอพยพคนพื้นที่เสี่ยง

นักวิชาการชี้อ่าวไทย-อันดามันภัยถี่รุนแรง เหตุโค่นป่าสร้างที่พัก,ปลูกยางบนภูเขา เกาะสมุยชั้นดินเป็นโพรง ปลูกสร้างเกินขีด แนะอพยพคนจุดเสี่ยง
        ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.สุราษฎร์ธานี วันนี้ (31 พ.ค.) จากกรณีเกิดภัยพิบัติใน จ.สุราษฎร์ธานี และหลายจังหวัดต่อเนื่องกัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ส่งผลกระทบรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ล่าสุดทางกรมโยธาธิการและผังเมือง จัดสัมมนาทางวิชาการที่โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า อ.เมืองสุราษฎร์ธานี เรื่องการพัฒนาเมืองในทศวรรษหน้า กรณีเมืองในเขตภัยพิบัติ
มีผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุมราว 200 คน ซึ่งสุราษฎร์ธานีมีพื้นที่น่าเป็นห่วงหลายจุด โดยเฉพาะเกาะสมุย สภาพชั้นใต้ดินเป็นโพรง ขณะที่บนภูเขาก่อสร้างที่พัก และสิ่งปลูกสร้างเกินกำหนด ธรรมชาติไม่รองรับ เกิดดินทรุดตัวเร็ว แม้ฝนตกไม่มากก็ตาม และแนวโน้มเกาะสมุยจะทรุดตัวเร็วกว่ากำหนด ภายใน 10-15 ปี อาจจะวิกฤติหนัก
ศาสตราจารย์ ธงชัย โรจน์กนันท์ สถาปนิกชำนาญการพิเศษ กล่าวถึงสาเหตุภัยพิบัติเกิดซ้ำ ๆ ทั้งอ่าวไทยและอันดามันนั้น เนื่องจากมีสิ่งปลูกสร้างมากขึ้น ไม่ถูกตามหลักวิชาการ อย่างเกาะสมุยมีสิ่งปลูกสร้างบนเขามากเกินไป ต้นน้ำ ลำธารถูกทำลาย ยากจะแก้ไข ต้องปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นตัวเอง
ขณะเดียวกัน พื้นที่เสี่ยงภัยอื่น ๆ หน้าดินถูกทำลาย โดยเฉพาะการปลูกต้นยางบนภูเขามากเกินไป ต้นยางไม่ช่วยยึดหน้าดิน และการสร้างบ้านขวางทางน้ำทั้งอ่าวไทยและอันดามัน จะต้องรับผลจากภัยพิบัติอีก โดยเฉพาะพายุฤดูร้อนจะต้องเกิดตามมาอีกแน่นอน ทั้งนี้ ทางออกทางภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ให้หมด จัดหาที่อยู่ให้ใหม่ที่เหมาะสมไม่สร้างบ้านในที่เสี่ยงภัยหรือที่เดิมเพราะ ภัยพิบัติจะเกิดซ้ำขึ้นอีกได้ ปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นตัวเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้กล่าวถึงภัยพิบัติที่มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงและมีความถี่ ในการเกิดเพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างมาก ส่งผลให้ชุมชนเมืองและพื้นที่โดยรอบถูกจัดให้เป็นเขตพื้นที่เสี่ยงภัยจำนวน มากมายหลายแห่ง กรมโยธาธิการและผังเมืองในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักซึ่งรับผิดชอบการพัฒนา พื้นที่ โดยการกำหนดนโยบายการใช้ประโยชน์ที่ดิน การผังเมือง การตั้งถิ่นฐานและโครงสร้างพื้นฐานตลอดจนการกำหนดมาตรฐานด้านการอาคารเพื่อ นำไปสู่การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
โดยที่พื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติของภาคใต้ นั้นมีทั้ง 14 จังหวัดทั้งอ่าวไทยและอันดามันโดยแต่ละจังหวัดมีสภาพการเกิดภัยพิบัติใน ลักษณะที่คล้ายกันมีสาเหตุการบุกรุกที่ดินบนภูเขา เพื่อปลูกยางพารา เมื่อถึงฤดูฝนหรือปริมาณฝนตกวันละประมาณ 100 มิลลิเมตร ก็สามารถทำให้เกิดดินถล่มลงมาได้ เนื่องจากรากต้นยางพาราตื้น ไม่สามารถยึดหน้าดินไว้ได้ แตกต่างจากในอดีต โดยทางออกทำได้เพียงอย่างเดียวที่จะป้องกันภัยพิบัติคือการจัดหาที่อยู่ให้ ชาวบ้านใหม่ และไม่สร้างที่อยู่อาศัยซ้ำในที่เดิมเพราะจะเกิดภัยพิบัติซ้ำอีก จากนั้นปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นตัวเองอีกระยะหนึ่ง เหตุการณ์ดังกล่าวก็จะดีขึ้นระดับหนึ่ง