วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555

นักธรณีวิทยาของโลกใบนี้พูดถึง สึนามิสังหาร..ที่ฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น

โดยข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ เปลือกโลกที่เราเหยียบอยู่ทุกวันไม่เคยหยุดนิ่ง หากใช้เครื่องตรวจจับที่มีความละเอียดมากพอ เราจะพบอาการเคลื่อนไหวบางสิ่งบางอย่างของเปลือกโลกในทุกๆ 5 นาที

โดยพื้นฐานดังกล่าว ไม่น่าแปลกที่แผ่นดินไหวเกิดขึ้นบนพื้นโลกทุกวัน วันหนึ่งๆ หลายสิบครั้ง

ปีๆ หนึ่งจึงมี "แผ่นดินไหว" ระดับต่างๆ เกิดขึ้นในสถานที่ต่างๆ ทั้งบนพื้นดิน ใต้พื้นมหาสมุทร ระหว่างเทือกเขามากถึง 500,000 ครั้ง

ในจำนวนนี้มี 100,000 ครั้ง เป็นการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกที่เรา "รู้สึก" ได้

ถ้าเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงระดับที่สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นได้บ้าง คือวัดความรุนแรงได้ระหว่าง 5-5.9 ริคเตอร์นั้น จะเกิดขึ้นโดยเฉลี่ย 1,319 ครั้งต่อปี

ถ้าเป็นระดับความรุนแรงชนิดที่อาจทำให้เกิดความเสียหายกับสิ่งปลูกสร้างได้บ้าง คือวัดความรุนแรงได้ระหว่าง 6-6.9 ริคเตอร์นั้น จะเกิดขึ้น 134 ครั้งในระยะเวลา 1 ปี ส่วนที่ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งวัดความรุนแรงได้ระหว่าง 7-7.9 ริคเตอร์นั้น จะเกิดขึ้น 15 ครั้งต่อปี

ข้อมูลของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา (ยูเอสจีเอส) ระบุเอาไว้ว่า แผ่นดินไหวระดับเกินกว่า 8.0 ริคเตอร์ขึ้นไป เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นนอกชายฝั่งฮอนชูนั้น โดยเฉลี่ยแล้วมีเพียงปีละครั้ง!

ตัวเลขทั้งหมดที่ผมว่ามานั้น เป็นตัวเลขของค่าเฉลี่ยการเกิดแผ่นดินไหวในยามที่แผ่นเปลือกโลกใหญ่น้อยทั้งหลายอยู่ในสภาวะ "ค่อนข้างนิ่งสงบ" เท่านั้น

ไม่ใช่ยามที่เกิดความผันแปร ผันผวน หรือคลุ้มคลั่งอย่างผิดปกติของเปลือกโลกหรือแกนโลกแต่อย่างใดทั้งสิ้น

แผ่นดินไหวที่เกิดต่อเนื่องกันในช่วงไม่ถึงเดือน 3 ประเทศ ตั้งแต่นิวซีแลนด์ จีน และญี่ปุ่น จึงไม่ใช่เรื่องวิปริต ผิดอาเพศ

เช่นเดียวกัน การที่แผ่นดินไหวระดับ "มหึมา" ที่จะเกิดได้ก็เพียงปีละครั้ง ดันมาเกิดขึ้นกับประเทศอย่างญี่ปุ่น ก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หรือเป็นเรื่องของโชคชะตา ฟ้ากำหนดแต่อย่างใดทั้งสิ้น

แต่เป็นเพราะญี่ปุ่นตั้งอยู่บนพื้นที่เปลือกโลกส่วนที่ "อ่อนไหว" ที่สุด ส่วนหนึ่งของแนวบรรจบกันของ "รอยเลื่อน" ของเปลือกโลก (หลายแผ่น) ขนาดมหึมาความยาวกว่า 40,000 กิโลเมตร ทอดยาวตั้งแต่ริมฝั่งด้านตะวันออกของตอนเหนือของรัสเซียไปตามแนว 2 ริมฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิก

เรารู้จักมันมานานปีในชื่อ "วงแหวนแห่งไฟ-ริง ออฟ ไฟร์"

แนว "ริง ออฟ ไฟร์" ที่ว่านี้ คือพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหว 90 เปอร์เซ็นต์ของแผ่นดินไหวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในโลกนี้!

และในจำนวนแผ่นดินไหวระดับรุนแรงทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้น 80 เปอร์เซ็นต์ เกิดขึ้นในแนว "ริง ออฟ ไฟร์" นี้เช่นเดียวกัน

หมู่เกาะที่เราเรียกกันว่า "ประเทศญี่ปุ่น" ในเวลานี้ อันที่จริงเป็นผลงานการรังสรรค์ของ "แผ่นดินไหว" ก่อกำเนิดมันขึ้นมา เนิ่นนานก่อนที่มนุษย์จะไปยึดเอามันมาเป็นถิ่นพำนัก

เมื่อ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ธรรมชาติอันเป็นอนิจจัง ตอกย้ำกับมนุษย์ตัวกระจ้อยร่อยให้ได้ตระหนักอีกครั้งว่า ธรรมชาติสร้างสรรค์ได้ ก็ทำลายล้างได้เช่นเดียวกัน!

ญี่ปุ่นตั้งอยู่บนริมขอบด้านตะวันออกของแผ่นเปลือกโลกเก่าแก่ขนาดใหญ่แผ่นที่เรียกว่า "ยูเรเชีย เพลท"

ห่างจากชายฝั่งด้านตะวันออกสุดของญี่ปุ่น ออกไปทางตะวันออกอีกเพียง 300-400 กิโลเมตรใต้พื้นมหาสมุทรแปซิฟิก "ยูเรเซีย เพลท" สิ้นสุดลงตรงนั้น ถัดจากมันไปคือแผ่นเปลือกโลกอีกแผ่น ขนาดไม่เล็กไปกว่ากันกี่มากน้อย มันถูกเรียกว่า "แปซิฟิก เพลท"

แนวที่แผ่นแปซิฟิก เพลท ชนเข้ากับแผ่นยูเรเซีย เพลท ทอดยาวลงมาตั้งแต่ชายฝั่งด้านตะวันออกของหมู่เกาะคูริลของรัสเซีย เรื่อยลงมาขนานกับแนวชายฝั่งด้านตะวันออกของญี่ปุ่นจนจรดด้านตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงโตเกียว ก่อนวกกลับขึ้นเกาะฮอนชู ตัดขวางญี่ปุ่นไปทางตะวันตก เป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก

เราเรียกแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกทั้ง 2 แผ่นนั้นว่า "แจแปน เทรนช์"

ตามแนวรอยเลื่อน "แจแปน เทรนช์" ที่ว่านี้ ในช่วงระยะเวลาเพียง 9 ปีที่ผ่านมา เกิดแผ่นดินไหวระดับ "มหึมา" คือเกินกว่า 8 ริคเตอร์มาแล้ว 3 ครั้ง

ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน ปี ค.ศ.2003 จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณนอกชายฝั่งด้านตะวันออกของเกาะฮอกไกโด วัดความรุนแรงได้ 8.3 ริคเตอร์ แรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้ทั่วญี่ปุ่น มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 600 คน ไม่มีสึนามิ

ครั้งที่สอง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ปี 2006 บริเวณนอกชายฝั่งด้านตะวันออกของหมู่เกาะคูริล วัดความรุนแรงได้ 8.3 ริคเตอร์ ไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ก่อให้เกิดสึนามิขนาดคลื่นสูง 1.80 เมตรไปไกลถึงชายฝั่งด้านตะวันตกของรัฐแคลิฟอร์เนีย

ครั้งที่ 3 คือแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งฮอนชู เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา วัดความรุนแรงได้ 8.9 ริคเตอร์

คำถามที่น่าสนใจก็คือว่า เพราะเหตุใดแผ่นดินไหวในบริเวณ "แจแปน เทรนช์" ถึงได้รุนแรงถึงขีดสุดเช่นนี้?

เหตุผลมีอยู่ 2 ประการ หนึ่งนั้นเพราะระดับความเร็วในการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกในบริเวณดังกล่าว อีกหนึ่งคือ รูปแบบของการเคลื่อนไหวเข้าหากันของแผ่นเปลือกโลกทั้ง 2 แผ่น

พูดง่ายๆ ว่า ธรรมชาติกำหนดไว้ให้พื้นที่ตรงนี้ต้อง "รุนแรง" ครับ



แผ่นเปลือกโลกขนาดใหญ่มี 8 แผ่น ขนาดย่อยอีก 7 แผ่น ทั้งหมดเคลื่อนไหวในระดับความเร็วและทิศทางแตกต่างกัน ตั้งแต่ไม่ถึง 1 นิ้วไปจนถึงมากกว่า 3 นิ้วต่อปี

การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่า เปลือกโลกคือส่วนที่เป็นของแข็งซึ่งมีความหนาแน่นของมวลน้อยกว่า ลอยอยู่บนแกนกลางของโลกส่วนที่เป็นของเหลวแต่มีความหนาแน่นสูงกว่า ในขณะที่โลกมีการหมุนรอบตัวและพื้นผิว 3 ใน 4 ประกอบด้วยน้ำที่เป็นของเหลว

แผ่นเปลือกโลกเก่าแก่อย่างยูเรเซีย ก็เคลื่อนที่ มันขยับขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือปีละ 1-2.5 เซนติเมตร ในทางตรงกันข้าม แผ่นเปลือกโลกแปซิฟิก เพลท กลับเป็นแผ่นเปลือกโลกที่เคลื่อนที่ในอัตราที่เร็วที่สุดแผ่นหนึ่ง