วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ผอ.สำนักธรณีฯ ห่วง ภูเก็ตฝั่งตะวันตก เสี่ยงดินถล่ม

ผอ.สำนักธรณีฯ ห่วง ภูเก็ตฝั่งตะวันตก เสี่ยงดินถล่ม
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์20 กรกฎาคม 2554




นาย เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวในการมอบแผนที่เสี่ยงภัยดินถล่ม รายละเอียดระดับชุมชน ให้กับนายประสิทธิ์ โอสถานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ว่า

กรมทรัพยากรธรณีได้มีการจัดตั้งเครือข่ายอาสาสมัครทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ในการดูแลพื้นที่เสี่ยงภัยทางธรณี บริเวณ ต.หน้าเขา อ.เขาพนม จ.กระบี่ ตั้งแต่ปี 2549 แต่ในครั้งนั้น มีเพียงการกำหนดจุดพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่ก็ยังไม่มีความตื่นตัวกับเหตุการณ์ดินถล่ม

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรธรณี ได้ทำการสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม พบฝั่งตะวันตกของ จ.ภูเก็ต ตลอดแนว อาทิ หาดป่าตอง หาดกมลา หาดกะตะ หาดกะรน มีความเสี่ยงเกิดดินถล่มในพื้นที่สูง และชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ นักท่องเที่ยว และผู้ใช้แรงงาน มีความตื่นตัวในเรื่องดินถล่มน้อย ซึ่งทางกรมฯ ได้มีการใช้วิธีวัดปริมาณน้ำฝน และการสื่อสารในพื้นที่แทนการอบรมอาสาสมัคร


ดินถล่มคืออะไร?

ดินถล่มหรือโคลนถล่ม คือ การเคลื่อนที่ของมวลดินและหินลงมาตามลาดเขาด้วยอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงโลก และจะมีน้ำเข้ามาเกี่ยวข้องในการ ทำให้มวลดินและหินเคลื่อนตัวด้วยเสมอ ดินถล่มมักเกิดตามมาหลังจากน้ำป่าไหลหลาก ในขณะที่เกิดพายุฝนตกหนักรุนแรงต่อเนื่อง หรือหลังการเกิดแผ่นดินไหว

กระบวนการเกิดดินถล่ม
** เมื่อฝนตกหนัด น้ำจะซึมลงไปในดินอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ดินอุ้มน้ำจนอิ่มตัว แรงยึดเกาะระหว่างมวลดินจะลดลง ระดับน้ำใต้ผิวดินสูงขึ้นจะทำให้แรงต้านทานการเลื่อนไหลของดินลดลง


** เมื่อน้ำใต้ผิวดินมีระดับสูงก็จะไหลภายในช่องว่างของดิน ลงมาตามความชันของลาดเขา

** เมื่อมีการเปลี่ยนความชัน ก็จะเกิดเป็นน้ำผุดและเป็นจุดแรกที่มีการเลื่อนไหลของดิน

** เมื่อเกิดดินเลื่อนไหลแล้ว ก็จะเกิดต่อเนื่องขึ้นไปตามลาดเขา


รูปแบบของดินถล่ม
  1. หินแตกไหล
  2. ดินถล่มเนื่องจากการสร้างถนน
  3. ดินถล่มใต้น้ำ
  4. หินร่วง หรือหินหล่น
  5. เศษตะกอนไหลเลื่อนตามทางน้ำ
  6. หน้าผาผุกร่อน
  7. ตลิ่งพัง
  8. ดินถล่ม

ปัจจัยที่ทำให้เกิดดินถล่ม
** พื้นที่เป็นหินแข็งเนื้อแน่นแต่ผุง่าย

** มีชั้นดินสะสมตัวหนาบนภูเขา

** ภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงชัน ที่ลาดเชิงเขา หุบเขาและหน้าผา

** ป่าไม้ถูกทำลาย

** มีฝนตกหนักต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน มากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน

** ภัยธรรมชาติอื่นๆ เช่น พายุ, แผ่นดินไหว และไฟป่า



ลักษณะพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม

ลักษณะของพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม มักเป็นพื้นที่ที่อยู่ตามลาดเชิงเขา หรือบริเวณที่ลุ่มที่ติดอยู่กับภูเขาสูงที่มีการพังทลายของดินสูง หรือสภาพพื้นที่ต้นน้ำที่มีการทำลายป่าไม้สูง

นอกจากนั้น ในบางพื้นที่อาจเป็นบริเวณภูเขาหรือหน้าผาที่เป็นหินผุพังง่าย ซึ่งมักก่อให้เกิดเป็นชั้นดินหนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่หินรองรับชั้นดินนั้นมีความเอียงเทสูง และเป็นชั้นหินที่ไม่ยอมให้น้ำซึมผ่านได้สะดวก

ลักษณะดังกล่าวทั้งหมด พบได้ทั่วไปในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้กรมทรัพยากรธรณีกำลังทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล สำรวจเก็บข้อมูลทางธรณีวิทยาและสภาพแวดล้อมของพื้นที่เบื้องต้น และรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลอื่น พบว่าใน 51 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีลักษณะพื้นที่เสี่ยงภัยต่อดินถล่มอยู่บริเวณลาดเชิงเขาและที่ลุ่มใกล้ เขา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าว มีความเสี่ยงภัยต่อดินถล่มมาก เนื่องจากเมื่อมีพายุฝนตกหนักต่อเนื่องจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มตามมาได้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชน

ดังนั้นประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวจึงควรให้ความสนใจและระมัดระวังเป็นพิเศษ


บันทึกเหตุการณ์ดินถล่มในประเทศไทย





ลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้านเสี่ยงภัยดินถล่มมีข้อสังเกตดังต่อไปนี้

** อยู่ติดภูเขาและใกล้ลำห้วย

** มีร่องรอยดินไหลหรือดินเลื่อนบนภูเขา

** มีรอยแยกของพื้นดินบนภูเขา

** อยู่บนเนินหน้าหุบเขาและเคยมีโคลนถล่มมาบ้าง

** ถูกน้ำป่าไหลหลากและท่วมบ่อย

** มีกองหิน เนินทรายปนโคลนและต้นไม้ ในห้วยใกล้หมู่บ้าน

** พื้นห้วยจะมีก้อนหินขนาดเล็กใหญ่อยู่ปนกันตลอดท้องน้ำ


ข้อสังเกตุหรือสิ่งบอกเหตุ

** มีฝนตกหนักถึงหนักมาก มากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน

** ระดับน้ำในห้วยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

** สีของน้ำเปลี่ยนเป็นสีของดินบนภูเขา

** มีเสียงดัง อื้ออึง ผิดปกติดังมาจากภูเขาและลำห้วย

** น้ำท่วมหมู่บ้าน และเพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว





(ข้อมูลกรมทรัพยากรธรณี:2547)