วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เตือนภาคใต้หลายจว.ทั้งเกาะภูเก็ตส่อดินถล่ม

เตือนภาคใต้หลายจว.ทั้งเกาะภูเก็ตส่อดินถล่ม

วันที่ 20/07/2554 22:20





ฝนตกสะสม ภูเขาเป็นหินแกรนิตผุพังสูง เกิดเหตุบ่อยแต่ปิดข่าวหวั่นกระทบท่องเที่ยว ที่ดินตก


เมื่อวันที่ 20 ก.ค. นายอดิศักดิ์ ทองไข่มุกต์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ลงพื้นที่บ้านต้นหาร ต.หน้าเขา อ.เขาพนม จ.กระบี่ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุธรณีพิบัติดินถล่ม และน้ำป่าไหลหลาก รุนแรงที่สุด ใน จ.กระบี่ มีผู้เสียชีวิต 12 คน และสูญหาย 1 คน นายประสิทธิ์ โอสถานนท์ ผวจ.กระบี่ ชี้แจงสถานการณ์ พร้อมรับมอบแผนที่เสี่ยงภัยดินถล่มระดับชุมชน ที่ทธ.เพิ่งทำเสร็จ นายประสิทธิ์ กล่าวว่า บริเวณเขาพนม ดินถล่มรุนแรงที่สุด ขณะนี้ หน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมกันฟื้นฟูและสร้างบ้านใหม่ให้ผู้ประสบภัยแล้ว 50 หลัง จะเสร็จหมดในวันที่ 12 ส.ค.นี้ ส่วนบ้านเสี่ยงภัย 114 หลัง อยู่ระหว่างหาพื้นที่ใหม่ให้อยู่ สาเหตุความสูญเสียเพราะเมื่อเกิดเหตุ ระบบสื่อสารใช้การไม่ได้ แม้จะเตือนภัยแล้ว แต่ประชาชนยังไม่เชื่อ ดังนั้นหากเกิดปัจจัยเสี่ยงเช่น ฝนตกหนัก ประชาชนต้องเชื่อมั่นการเตือนภัยจากส่วนราชการและเครือข่ายเตือนภัยใน พื้นที่เคร่งครัด

นายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผู้อำนวยการกองธรณีพิบัติภัยและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สถานการณ์ธรณีพิบัติภัย น่ากังวลในหลายพื้นที่ เนื่องจากตะกอนดินที่ลาดเชิงเขาโดยเฉพาะภาคใต้ ยังตกลงมาไม่หมด สถานการณ์ฝนในภาคใต้ จะเริ่มช่วงปลายเดือน ต.ค. เดิมกรมทรัพยากรธรณีเคยคำนวณว่าปริมาณฝนที่ตก 90 มิลลิเมตร อันตรายก่อให้เกิดดินถล่ม ปัจจุบันฝนเพียง 80 มิลลิเมตร ก็อันตรายแล้ว เพราะฝนภาคใต้ตกต่อเนื่องสะสม ไม่ตกกระจายเหมือนภาคอื่น อีกทั้งกระแสลมแปรปรวน สภาพภูเขาเป็นหินแกรนิต โอกาสผุพังสูง หลายพื้นที่เป็นจุดเสี่ยง เช่น เทือกเขาหลวงตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานีถึง จ.นครศรีธรรมราช เขาพนมเบญจา จ.กระบี่ เทือกเขาบรรทัด จ.พัทลุง ถึง จ.ตรัง และเทือกเขาสันกาลาคีรี จ.ยะลา ถึง จ.ปัตตานี รวมทั้งเกาะภูเก็ตฝั่งตะวันตก ที่มีชายหาดสวยงามและสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง อาทิ หาดกะตะ กะรน หาดป่าตอง หาดกมลา หาดทรายขาว ก็เป็นจุดเสี่ยงธรณีพิบัติภัย เพราะ สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงมาก ทั้งปาดหน้าเขา ตัดภูเขา มีสิ่งก่อสร้างบนภูเขา ที่ผ่านมาเคยประสบเหตุธรณีพิบัติภัยบ่อยครั้ง แต่หลายฝ่ายพยายามปิดข่าว เกรงกระทบการท่องเที่ยว และราคาที่ดิน กรมเคยพยายามจัดตั้งเครือข่ายเตือนภัยในพื้นที่ภูเก็ตฝั่งตะวันตก แต่ไม่ได้รับความร่วมมือและไม่มีใครสนใจ เพราะคนที่อาศัยส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ไม่ใช่คนในพื้นที่.